5 โมเดลพัฒนาบริการเทรนเนอร์เพื่อให้ธุรกิจ Fitness เติบโตยิ่งขึ้น

ธุรกิจฟิตเนสก็ไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆหรอกครับ เมื่อคู่แข่งในตลาดเพิ่มขึ้น การที่คุณจะเริ่มต้นธุรกิจหรือขยายสาขาเพิ่ม ก็เป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จหากยังเสนอสินค้าหรือบริการแบบเดิมๆ ที่เหมือนกับคู่แข่งรายอื่นๆ

และสำหรับธุรกิจฟิตเนส โมเดลการให้บริการใหม่ๆ อาจจะเป็นกุญแจปลดล็อคการเติบโตของคุณ

โมเดลการให้บริการของธุรกิจ Fitness

โมเดลการให้บริการจะเป็นสิ่งที่อธิบายว่าโครงสร้างของบริการนั้นๆ จะสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้อย่างไร ซึ่งที่เราจะพูดถึงในบทความนี้คือโมเดลเทรนนิ่งส่วนตัว (Personal Training) ที่หลากหลาย Gym อาจจะเข้าใจว่ามันมีแค่โครงสร้างเดียว คือ ให้ลูกค้าสามารถจ้างเทรนเนอร์เพื่อสอนแบบตัวต่อตัวและจ่ายเป็นรายเดือน

แต่จริงๆแล้วคุณยังสามารถสร้างโอกาสพัฒนาของธุรกิจได้ด้วยโครงสร้างใหม่ๆของโมเดลการให้บริการเทรนนิ่งส่วนตัว ที่ไม่ใช่แค่การจ้างแบบรายเดือนเท่านั้น เพราะแน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ถูกกำหนดแบบตายตัว ดังนั้นคุณก็สามารถออกแบบการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่างและเอาชนะคู่แข่งได้

และในหัวข้อต่อไปผมจะเสนอ 5 โมเดลการให้บริการเทรนเนอร์ ที่จะพัฒนาธุรกิจ Fitness ของคุณให้เติบโตยิ่งขึ้น (ท้ายที่สุดคุณสามารถนำโมเดลเหล่านี้มารวมหรือแมทช์กันได้อย่างอิสระ)

1. การเทรนนิ่งแบบตัวต่อตัว (Private In-Person Training)

คุณอาจจะเริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ !? แบบนี้ก็เหมือนธุรกิจฟิตเนสทั่วไปสิ

จริงอยู่ครับที่มันเป็นโมเดลที่แทบทุกฟิตเนสใช้กัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันยังเป็นหนึ่งในโมเดลที่ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาต้องการคนที่มามอบความรู้ด้านการออกกำลังกายรวมไปถึงด้านโภชนาการอย่างถูกต้อง เพื่อให้ตัวพวกเขาเองได้ไปถึงเป้าหมายของร่างกายที่ต้องการ นอกจากนี้ การมีเทรนเนอร์ส่วนตัวนั้นจะทำให้รู้สึกเหมือนมีคนคอยพลักดันและกระตุ้นพวกเขาให้ออกกำลังกายอีกด้วย  

ดังนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโมเดลนี้ก็ยังถือว่าจำเป็นสำหรับธุรกิจฟิตเนสอยู่

เครดิตรูปภาพ :  onnit.com

โดยทั่วไปในแต่ละเซสชั่นของการเทรนนิ่งแบบตัวต่อตัวจะใช้ประมาณ  30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ลูกค้าเลือก แต่หลากหลาย Gym ก็ตกหลุมพรางเพราะคิดว่าการเทรนนิ่งแบบตัวต่อตัวต้องกำหนดเวลาแบบตายตัวอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

ในความเป็นจริง ก่อนที่จะเริ่มมีการเทรนนิ่ง เทรนเนอร์ควรคุยกับลูกค้าก่อนว่าเป้าหมายของพวกเขาคืออะไร (เช่น สุขภาพที่ดี , เพิ่มกล้ามเนื้อ หรือ ลดน้ำหนัก) และออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้กับพวกเขา ซึ่งแปลว่าเวลานั้นก็จะยืดหยุ่นตามโปรแกรมที่วางไว้เพื่อเป้าหมายที่แตกต่างของแต่ละบุคคล ไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงเสมอไป

แต่ข้อเสียของโมเดลนี้คือเทรนเนอร์จะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับลูกค้า อาจจะทำให้ตัวเทรนเนอร์รู้สึกเบื่อ นอกจากนี้ โมเดลการเทรนแบบตัวต่อตัวยังมีรายได้ที่อยู่ในกรอบของเวลา ทำให้เงินที่เราจะได้รับก็จะอยู่ในปริมาณที่จำกัดเช่นกัน

2. การเทรนนิ่งแบบกลุ่ม (Group Training)

การเทรนนิ่งแบบกลุ่มก็เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ไม่ใช่โมเดลใหม่สำหรับธุรกิจฟิตเนส และใช้ประกอบกับโปรแกรมการออกกำลังกายแบบบูทแคมป์ (Bootcamp) พิลาทิส โยคะ หรือกีฬาบางประเภท เช่นมวยไทย

เครดิตรูปภาพ : fivetowns.coursestorm.com

ซึ่งการเทรนนิ่งแบบกลุ่มถือเป็นทางเลือกที่ดีในการมอบประสบการณ์การออกกำลังกายให้กับลูกค้าหลายๆคนพร้อมกัน เพื่อประหยัดเวลาสำหรับตัวเทรนเนอร์ ในฝั่งลูกค้าเองพวกเขาก็จะได้มิตรภาพใหม่ๆ และคอมมูนิตี้ใหม่ๆ ที่ทำให้การออกกำลังกายของพวกเขาสนุกมากยิ่งขึ้น  

นอกจากนี้มันยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะสมัครคอร์สเทรนนิ่งตัวต่อตัวกับคุณอีกด้วย เพราะหลังจากการเทรนนิ่งแบบกลุ่ม พวกเขาอาจจะต้องการการฝึกที่เข้มข้นและลึกขึ้น

โดยหลักการหาเงินจากโมเดลนี้ก็คือ การที่ลูกค้าจ่ายค่าบริการเป็นคอร์ส (ต่อ 1 คอร์สอาจจะมี 8 คลาส) หรืออาจจะทำเป็นคลาสเสริมจากสมาชิกรายเดือนของ Gym

และส่วนใหญ่แล้วการเทรนนิ่งแบบกลุ่ม ถ้ามีเทรนเนอร์เพียงคนเดียว คุณไม่ควรรับลูกค้าเกิน 20 คน (ต่อหนึ่งคอร์ส) เพื่อการดูแลที่ทั่วถึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณสามารถกำหนดขนาดและระยะเวลาของคอร์สได้ตามความเหมาะสม

3. การเทรนนิ่งแบบกลุ่มที่เฉพาะเจาะจง (Semi-Private Training)

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ โมเดลนี้คือตรงกลางระหว่างการเทรนนิ่งแบบตัวต่อตัวและแบบกลุ่ม เพราะจำนวนลูกค้าภายในคลาสจะมีน้อยกว่าแบบกลุ่ม (ส่วนใหญ่คือ 3-5 คนต่อคลาส) และถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นรูปแบบตัวต่อตัว แต่การเทรนนิ่งแบบนี้ก็จะยืดหยุ่นและสามารถปรับแต่งคลาสได้ง่ายกว่าแบบกลุ่ม

เครดิตรูปภาพ : robertsontrainingsystems.com

โดยการเทรนนิ่งรูปแบบนี้มักจะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการและเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง (เช่น กลุ่มคุณแม่ที่ต้องการกลับมาหุ่นเป๊ะ หลังจากคลอด หรือ กลุ่มนักวิ่งที่ต้องการซ้อมก่อนลงแข่งมาราธอนในสถานที่สุดโหด) และรวมตัวกันมาเพื่อเข้าเทรนนิ่งในคลาสที่ปกติอาจจะไม่ถูกจัดขึ้น

การเทรนนิ่งแบบกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงถือเป็นโมเดลหนึ่งที่ลูกค้าหลากหลายคนถูกใจ เพราะมันสามารถรวบรวมข้อดีของออกกำลังกายแบบกลุ่ม (2 คนขึ้นไป) และการดูแลจากเทรนเนอร์ที่ทั่วถึงไว้ในคลาส

ในมุมผู้ประกอบการ ด้วยการที่คลาสนี้จำเป็นต้องใช้ทักษะที่เฉพาะเจาะจง (บางครั้ง) เช่น ทักษะการออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และคลาสที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว ทำให้คุณอาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็แปลว่าคุณก็สามารถสร้างกำไรจากคลาสได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

4. การเทรนนิ่งแบบออนไลน์ (Online Training)

โมเดลการเทรนนิ่งออนไลน์นี้ถือเป็นโมเดลใหม่ที่เพิ่งได้รับความนิยมมาเพียงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แต่มันกลับมีการเติบโตที่รวดเร็วมากกว่าโมเดลอื่นๆ เพราะด้วยโลกโซเชียลปัจจุบันทำให้สื่อการสอนแบบนี้เข้าไปถึงลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง

เครดิตรูปภาพ : dailyburn.com

โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันได้รับความนิยมนั้น เป็นเพราะการเทรนนิ่งแบบนี้มักจะใช้การสื่อสารกันด้วยช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง เช่น Line E-mail รวมไปถึงการ Video Call ทำให้ไม่ว่าคุณจะอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ คุณก็สามารถรับความรู้ด้านการออกกำลังกายได้อย่างสบายๆ

ซึ่งสำหรับเทรนเนอร์ มันถือเป็นโมเดลที่ทำให้ตัวเทรนเนอร์มีเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นถ้าคุณสามารถหาวิธีทำให้การเทรนนิ่งนั้นดำเนินไปโดยอัตโนมัติได้ เช่น ทำเป็นคอร์สวิดีโอสอนออนไลน์ (แต่ต้องมีครบทุกคอร์ส ที่ตอบโจทย์เป้าหมายที่หลากหลายของลูกค้า) ขีดจำกัดของจำนวนในการรับลูกค้าก็จะถูกเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย หรือหลักพัน  

เครดิตรูปภาพ :  sparkpeople.com

ที่สำคัญ โมเดลนี้ถือว่าเป็นโมเดลที่จำเป็นต้องใช้ทักษะด้านการตลาดออนไลน์และการขายมากกว่าโมเดลอื่นๆ นอกจากนี้ ในการเอาชนะคู่แข่งอื่นๆ สิ่งที่สำคัญก็คือคุณจะต้องแสดงผลงานหรืออะไรบางอย่างที่สามารถทำให้ลูกค้าได้รู้ว่าคุณมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายจริงๆ แน่นอนว่าถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญมากเท่าไหร่ เวลาการเทรนนิ่งของคุณแต่ละนาทีก็มีค่าเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

สำหรับใครที่ตอนนี้เป็นเทรนเนอร์ โมเดลการเทรนนิ่งแบบออนไลน์นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหากต้องการเริ่มต้นธุรกิจ Fitness เพราะด้วยจำนวนลูกค้าที่สามารถรับได้มากกว่าโมเดลอื่น ทำให้เมื่อคุณเปิด Gym คุณก็จะมีข้อมูลและฐานลูกค้าเพื่อช่วยคุณดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น

5. การเทรนนิ่งรูปแบบผสม (Hybrid Training)  

เครดิตรูปภาพ :  totalcoaching.com

การเทรนนิ่งรูปแบบนี้คือรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างโมเดลการเทรนนิ่งออนไลน์และโมเดลการเทรนนิ่งรูปแบบอื่นๆ ที่มีการนัดเทรนนิ่งแบบเจอกับตัวเทรนเนอร์

ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถเสริมโปรแกรมบูทแคมป์ของคุณได้ด้วยวิดีโอสอนออกกำลังกายของแต่ละสัปดาห์ และตารางการจัดเตรียมอาหาร เพื่อที่ลูกค้าจะสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์นั่นเอง และแปลว่าพวกเขาจะได้เทรนนิ่งทั่งช่วงที่อยู่บ้านและช่วงที่เจอกับเทรนเนอร์นั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โมเดลนี้ก็จำเป็นต้องใช้ความพยายามมากกว่าโมเดลอื่นๆ แต่แน่นอนว่าการเทรนนิ่งรูปแบบผสมนี้ก็จะทำให้ รายได้เพิ่มขึ้น และเห็นผลลัพธ์ของลูกค้าได้ชัดเจนมากขึ้น  

สรุป

ถ้าคุณต้องการให้ Gym และธุรกิจ Fitness ของคุณเติบโต คุณก็ไม่ควรยึดติดอยู่กับโมเดลการให้บริการแบบเดิมๆ ที่จะทำให้จำกัดรายได้ไม่ให้ไปไหน

และอย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า คุณสามารถนำโมเดลเหล่านี้มารวมกันได้อย่างอิสระ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าคุณจะเลือกโมเดลการให้บริการแบบไหน โครงสร้างของมันจะต้องชัดเจน เข้าใจง่าย และสามารถพัฒนาให้เติบโตต่อไปได้

ถ้าคุณมีคำถามหรือต้องการที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ Fitness สามารถคอมเมนต์ด้านล่างหรือติดต่อเราโดยตรงได้เลยครับ

ต้องการเปิดฟิตเนส?

ให้เราช่วยบอกคุณว่าควรเริ่มต้นอย่างไรให้ได้กำไรเข้าธุรกิจยิมของคุณให้ได้มากและเร็วที่สุด เราให้คำปรึกษาฟรีที่เหมาะกับขนาดพื้นที่และงบประมาณ

ปรึกษาฟรี!